คำว่า “เมตตา” พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ได้อธิบายไว้ว่า หมายถึง “ความรักและเอ็นดู ความปรารถนาจะให้ผู้อื่นได้สุข เป็นข้อ 1 ในพรหมวิหาร 4 คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา”

บทแผ่เมตตา เป็นบทสวดมนต์ที่มุ่งเน้นไปที่การแผ่เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา ให้กับสรรพสัตว์ทั้งหลาย โดยมีเป้าหมายเพื่อลดความโกรธ ความเกลียดชัง และความโลภ และส่งเสริมความรัก ความเมตตา และความเห็นอกเห็นใจ บทแผ่เมตตามีหลายแบบ แต่ที่นิยมสวดกันมากมีดังนี้

คาถาบทแผ่เมตตาให้ตนเอง

อะหัง สุขิโต โหมิ ขอให้ข้าพเจ้ามีความสุข
อะหัง นิททุกโข โหมิ ขอให้ข้าพเจ้าปราศจากความทุกข์
อะหัง อะเวโร โหมิ ขอให้ข้าพเจ้าปราศจากเวร
อะหัง อัพยาปัชโฌ โหมิ ขอให้ข้าพเจ้าปราศจากอันตรายทั้งปวง
สุขี อัตตานัง ปะริหะรามิ ขอให้ข้าพเจ้าจงมีแต่ความสุขกายสุขใจ รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งปวงเถิด

คาถาบทแผ่เมตตาให้ผู้อื่น หรือ เจ้ากรรมนายเวร

สัพเพ สัตตา สุขิตา โหนตุ นิททุกขา อะเวรา อัพยาปัชฌา อะนีฆา สุขี อัตตานัง ปะริหะรันตุ
ขอสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง จงถึงความสุข ปราศจากความทุกข์ ไม่มีเวร ไม่มีภัย ไม่มีความคับแค้นใจ จงมีความสุขกายสุขใจ รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งปวงเถิด

คาถาบทแผ่เมตตาให้สรรพสัตว์ทั้งหลาย

สัพเพ สัตตา สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น
อะเวรา โหนตุ จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้มีเวรซึ่งกันและกันเลย
อัพยาปัชฌา โหนตุ จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย
อะนีฆา โหนตุ จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้มีความทุกข์กายทุกข์ใจเลย
สุขี อัตตานัง ปะริหะรันตุ จงมีแต่ความสุขกาย สุขใจ รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งสิ้นเทอญ

คาถาแผ่เมตตาพรหมวิหารสี่

บทเมตตา

สัพเพ สัตตา สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งสิ้น
อะเวรา โหนตุ จงเป็นผู้ไม่มีเวรแก่กันและกันเถิด
อัพยาปัชฌา โหนตุ จงเป็นผู้ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน
อะนีฆา โหนตุ จงเป็นผู้ไม่มีทุกข์กาย ทุกข์ใจเถิด
สุขี อัตตานัง ปะริหะรันตุ จงเป็นผู้มีสุข พ้นจากทุกข์ภัยทั้งสิ้นเถิด

บทกรุณา

สัพเพ สัตตา สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งสิ้น
สัพพะทุกขา ปะมุจจันตุ จงพ้นจากทุกข์เถิด

บทมุทิตา

สัพเพ สัตตา สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งสิ้น
มา ลัทธะสัมปัตติโต วิมุจจันตุ จงอย่าไปปราศจากสมบัติอันตนได้แล้วเถิด

บทอุเบกขา

สัพเพ สัตตา สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ทั้งสิ้น
กัมมัสสะกา เป็นผู้มีกรรมเป็นของของตน
กัมมะทายาทา เป็นผู้รับผลของกรรม
กัมมะโยนิ เป็นผู้มีกรรมเป็นกำเนิด
กัมมะพันธุ เป็นผู้มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์
กัมมะปะฏิสะระณา เป็นผู้มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย
ยัง กัมมัง กะริสสันติ กระทำกรรมอันใดไว้
กัลยาณัง วา ปาปะกัง วา ดีหรือชั่ว
ตัสสะ ทายาทา ภะวิสสันติ จักเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น

คาถาแผ่ส่วนกุศล

อิทัง เม มาตาปิตูนัง โหตุ สุขิตา โหนตุ มาตาปิตะโร ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จแก่มารดา บิดาของข้าพเจ้า ขอให้มารดา บิดาของข้าพเจ้ามีความสุข

อิทัง เม ญาตีนัง โหตุ สุขิตา โหนตุ ญาตะโย ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จแก่ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้า ขอให้ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้ามีความสุข

อิทัง เม คุรูปัชฌายาจริยานัง โหตุ สุขิตา โหนตุ คุรูปัชฌายาจริยา ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จแก่ครูอุปัชฌาย์อาจารย์ของข้าพเจ้า ขอให้ครูอุปัชฌาย์อาจารย์ของข้าพเจ้ามีความสุข

อิทัง สัพพะเทวะตานัง โหตุ สุขิตา โหนตุ สัพเพเทวา ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จแก่เทวดาทั้งหลายทั้งปวง ขอให้เทวดาทั้งหลายทั้งปวงมีความสุข

อิทัง สัพพะเปตานัง โหตุ สุขิตา โหนตุ สัพเพ เปตา ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จแก่เปรตทั้งหลายทั้งปวง ขอให้เปรตทั้งหลายทั้งปวงมีความสุข

อิทัง สัพพะเวรีนัง โหตุ สุขิตา โหนตุ สัพเพเวรี ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จแก่เจ้ากรรมนายเวรทั้งหลายทั้งปวง ขอให้เจ้ากรรมนายเวรทั้งหลายทั้งปวงมีความสุข

อิทัง สัพพะสัตตานัง โหตุ สุขิตา โหนตุ สัพเพ สัตตา ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จแก่สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ขอให้สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงมีความสุขทั่วหน้ากันเทอญ

บทกรวดน้ำให้เจ้ากรรมนายเวร

เมื่อเสร็จพิธีทำบุญและพระสงฆ์กล่าวรับแล้วให้กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้กับเจ้ากรรมนายเวรของเราโดยว่าดังนี้

” ข้าพเจ้าขออุทิศบุญกุศลจากการเจริญภาวนานี้ให้แก่เจ้ากรรมนายเวรทั้งหลายของข้าพเจ้า ที่ข้าพเจ้าได้เคยล่วงเกินท่านไว้ ตั้งแต่อดีตชาติจนถึงปัจจุบันชาติ ท่านจะอยู่ภพใดหรือภูมิใดก็ตาม ขอให้ท่านได้รับผลบุญนี้ แล้วโปรดอโหสิกรรม และอนุโมทนายบุญแก่ข้าพเจ้าด้วยอำนาจบุญนี้ด้วยเทอญ “

ผลบุญของการแผ่เมตตาที่พระพุทธเจ้ากล่าวไว้มี 11 ประการ ได้แก่

  1. ทำให้หลับก็เป็นสุข 
  2. ตื่นก็เป็นสุข 
  3. ไม่ฝันร้าย 
  4. เป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลาย 
  5. เป็นที่รักของอมนุษย์ทั้งหลาย (ผีเปรต อสุรกาย วิญญาณต่างๆ) 
  6. เทวดาทั้งหลายย่อมคุ้มครอง 
  7. แคล้วคลาดจากภยันอันตราย 
  8. จิตเป็นสมาธิได้ง่าย 
  9. สีหน้าย่อมผ่องใส 
  10. เมื่อจะตายใจก็สงบ (สู่สุคติภูมิ) 
  11. ถ้ายังไม่บรรลุคุณธรรมพิเศษที่สูงกว่า ย่อมเข้าถึงชั้นพรหม